การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์:
อย่าให้เป็นเส้นขนาน
อาคารที่ดิน Weekly ปีที่ 6 ฉบับที่ 266 วันที่ 26 มิถุนายน – 2
กรกฎาคม 2547 หน้า 68
เมื่อปลายเดือนก่อน ทางมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
(thaiappraisal.org) ร่วมกับ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย (trebs.ac.th)
จัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”
(Environmental Impact Assessment: EIA) โดยมีวิทยากรประกอบด้วย
1.หน่วยราชการที่ดูแลทางด้านนี้ คือ คุณสุทธิศักดิ์ ภัทรมานะวงศ์
(นิติกร 8 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ
"สผ." 2. บริษัทพัฒนาที่ดิน ได้แก่ คุณประสงค์ เอาฬาร
นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และคุณอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย 3.
บริษัทรับจ้างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ คุณกฤษดารักษ์ แพรัตกุล
เลขานุการชมรมนักวิชาการและที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม และ 4.
ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน โดยผมในฐานะประธานคณะกรรมการ
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และเป็นผู้ดำเนินรายการ
อะไรคือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โดยที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจาการดำเนินการต่าง
ๆ โดยน้ำมือของมนุษย์ ทางราชการจึงได้ออกกฎหมายการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้น
ซึ่งจะเกิดจากการพัฒนาที่ดินด้วย
อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่ใช่การขออนุญาตใด ๆ
เพียงแต่จัดทำการศึกษานี้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาโดยผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ
แล้วนำผลนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาของหน่วยงานที่จะให้อนุญาตก่อสร้างอาคารต่าง ๆ
(สุทธิศักดิ์) ผลการศึกษาจะบอกว่า การพัฒนาที่ดินที่วางแผนไว้
มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และถ้ามีจะต้องมีมาตรการแก้ไขใด ๆ
และก็แน่นอนว่าถ้าต้องแก้ไข ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย และถ้าเป็นเงินมหาศาล
ผู้ประกอบการก็คงจะไม่อยากจ่าย ดังนั้นจึงมีความพยายามจะทำให้ "ผ่าน" การศึกษา
หรือให้ระบุว่าไม่มีหรือมีผลกระทบแต่น้อยโดยไม่ต้องเสียเงินทองแก้ไขอะไรมากมาย
(ถ้ามี) การศึกษานี้เกี่ยวข้องกับนักพัฒนาที่ดินใน 3 กรณีหลัก ๆ คือ
การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยหรือเพื่อการพาณิชย์ (ที่มีขนาด 500 หน่วยขึ้นไป
หรือมีเนื้อที่เกิน 100 ไร่, โรงแรม สถานที่พักตากอากาศและอาคารอยู่อาศัยรวม
ที่มีขนาดห้องตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป (กฤษดารักษ์)
ข้อกังวลของผู้ประกอบการ
การจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้จะมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่
และตามประสบการณ์ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน (อธิป)
และหากเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เป็นกังวลก็คือ
ความไม่เท่าเทียมกันและความเสียเปรียบในการแข่งขันในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง
(ประสงค์) นอกจากนี้ใครจะเป็นผู้จ่าย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นรายปี
ผู้ประกอบการเมื่อขายหมดแล้ว
ก็คงไม่สามารถตามไปดูแลได้ตลอดเวลา ทางผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือ
(อธิป) แต่บางครั้งอาจดูประหนึ่งการเลือกปฏิบัติ เช่น หมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ
มีระบบบำบัดน้ำเสีย ขณะที่บ้านชาวบ้านทั่วไปไม่ดีด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้ถ้าเทียบกับโครงการขนาดใหญ่อย่างสำนักงาน
กลับไม่จำเป็นต้องทำการศึกษา ทางราชการก็เข้าใจดีว่า
การศึกษานี้อาจทำให้เสียเวลาในการดำเนินการ และอาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น (สุทธิศักดิ์)
แต่จำเป็นเพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมคิดอย่างไร
ปัจจุบันมีบริษัทรับจ้างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมประมาณ 48 บริษัท
แต่ละโครงการอาจใช้เวลาพอสมควร แต่ไม่เกิน 6 เดือน (กฤษดารักษ์)
เดี๋ยวนี้ทางบริษัทเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นชมรมนักวิชาการและที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม
และมีการจัดประชุมบ่อย ๆ เหมือนกัน กฎหมายสิ่งแวดล้อมก็คือ
พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
และประกาศที่เกี่ยวข้องซึ่งออกตาม พรบ.ดังกล่าว
(สุทธิศักดิ์) การทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมุ่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสำคัญ
แต่ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินก็คือ หนึ่ง การมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง
มุ่งเอาแต่ธุรกิจ สองการไม่เข้าใจหลักและวิธีการศึกษา
และสามคือการละเลยต่อการปฏิบัติตามมาตรการที่รับปากไว้
มาร่วมกันสร้างสรรค์การศึกษา EIA การที่ทาง สผ.
ขาดบุคคลากร (สุทธิศักดิ์) ทำให้งานล่าช้า ควรมีการเพิ่มเติมจำนวนบุคลากร
รวมทั้งการเพิ่มเติมเบี้ยเลี้ยง (อธิป) ส่วนการที่ทาง สผ.
ยังควรมีความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ก็ควรมีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาจากนักวิชาการและผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์บ้าง
(โสภณ) จะได้คล้ายกับกรณีที่ทางกรมการผังเมือง
หรือคณะกรรมการจัดสรรที่ดินได้เชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วย (ประสงค์)
และกรณีที่ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนยังไม่มีความเข้าใจดีต่อเรื่องนี้
ก็ควรจะมีการรณรงค์ให้ความรู้ทางด้านนี้อย่างกว้างขวาง เพื่อไม่ให้มอง EIA
เป็นสิ่งแปลกแยกจากชีวิตของเรา (โสภณ)
ความเพิ่มเติมเรื่องมูลค่าทรัพย์สิน ปกติแล้ว
มาตรการเพิ่มเติมทางสิ่งแวดล้อมก็คงไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในต้นทุนการแข่งขัน
ในทางตรงกันข้าม โครงการที่มีการศึกษาที่ดี
น่าจะได้รับการต้อนรับจากผู้บริโภคมากกว่าด้วย (โสภณ)
อย่างไรก็ตามหากผลการศึกษาระบุว่าต้องใช้เงินเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมหาศาล
ก็แสดงถึงความเป็นไปไม่ได้ของโครงการทางด้านข้อกฎหมาย และการตลาดแล้วส่วนหนึ่ง
(กฤษดารักษ์) ในการประเมินค่าทรัพย์สิน
โดยเฉพาะที่ดิน-อาคารที่ปนเปื้อนสารพิษหรือเชื้อโรคต่าง ๆ (contaminated site)
ผู้ประเมินก็ยังต้องหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนี้มาประเมินว่าต้นทุนการ
"ทำให้สะอาด" เป็นเท่าไร
แล้วจึงนำมูลค่าตลาดของทรัพย์สินในยามปกติมาลบด้วยต้นทุนดังกล่าว (โสภณ)
แต่ในบางกรณีต้นทุนการ "ทำให้สะอาด" ดังเดิมอาจจะสูงกว่าราคาที่ดินด้วยซ้ำไป
เช่นกรณีชาวบ้านท้ายลำเหมืองแร่คลิตี้ เป็นต้น ถ้าจะทำสายน้ำให้สะอาดดังเดิม
อาจมีต้นทุนมหาศาล การให้เวลาบำบัดและการเคร่งครัดกับทางโรงงานในอนาคต คงดีกว่า
และเช่นนี้แล้ว ก็ควรย้ายชาวบ้านออกไปให้พ้นจากสภาพความเป็นพิษ
โดยต้องจ่ายกันอย่างงามทีเดียว เพราะไม่ใช่ความผิดของพวกเขา
อย่าลืมนะครับ การศึกษา EIA ไม่ใช่สิ่งแปลกแยก
เป็นความจำเป็นที่จะทำให้เกิดความเป็นอารยะ และทำให้การพัฒนาต่าง ๆ มีความยั่งยืน
เผื่อแผ่ไปถึงลูกหลานของเราในอนาคต
AREA.co.th
มีศูนย์ข้อมูลที่ครอบคลุมโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ
มีจำนวนข้อมูลที่มากที่สุดในประเทศไทยจากการสำรวจภาคสนามอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี
2537 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น