วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ผลกระทบที่เกิดจากการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคารการจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน ตอนที่ 1

โดย Builder News วันที่ 6 พฤษภาคม 2557

ผลกระทบที่เกิดจากการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคารการจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน ตอนที่ 1

เหตุที่จะต้องเขียนในหัวข้อข้างต้นก็คือ คำถามจากผู้ได้รับผลกระทบจากการจะไปลงทุนซื้อห้องพักในอาคารชุดหลังหนึ่ง ลักษณะคำถามมีดังนี้

“ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ประสงค์จะมีที่พักที่สะดวกกับการอยู่อาศัยและไปทำงาน” ผมจึงตกลงจะซื้อห้องพักในอาคารชุดหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ที่ทำงานชนิดไม่ต้องอาศัยยานพาหนะใดๆ อยู่แถวถนนพหลโยธิน ที่ซึ่งบริเวณนี้ก็มีอาคารชุด คอนโดอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ผมวางเงินดาวน์ ผ่อนงวดไปบ้างแล้ว แต่แล้วบริษัทที่จะสร้างอาคารชุดหลังนี้ก็แจ้งมายังผมว่า “เนื่องจากโครงการไม่ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอาคารชุดหลังนี้ จึงขอให้ผมมารับเงินดาวน์คืนไป แต่ถ้าไม่รับคืน ให้เปลี่ยนไปซื้อโครงการอื่น หรือรอให้บริษัทปรับปรุงแก้ไขรูปแบบของอาคารชุดใหม่ ที่อาจจะต้องลดจำนวนห้องชุดลง เพื่อให้โครงการผ่านรายงานผลกระทบซึ่งอาจจะต้องทำให้ราคาห้องชุดสูงขึ้นบ้าง”

นี่เป็นตัวอย่างผลกระทบจากการต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งความเป็นจริงในปัจจุบันก็คือ มีโครงการที่จะต้องผ่านความเห็นชอบในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ไม่ถึงร้อยละ 10 ของโครงการที่ยื่นเสนอส่วนที่ไม่ผ่านกว่าร้อยละ 90 ก็ต้องไปจัดทำรายงานผลกระทบกันใหม่ แก้ไข ลดขนาดโครงการบ้าง เปลี่ยนแปลงโครงการบ้าง หรือปรับปรุงไปเป็นโครงการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบ

ดังนั้น ก็สมควรที่จะต้องศึกษาวิจัยกันว่า ผลกระทบจากการทำรายงานผลกระทบต่อโครงการในด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชนนั้นมีสิ่งใดบ้าง ในที่นี้คงต้องเริ่มต้นด้วยผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นได้แก่ ใคร กระทบส่วนไหน กระทบอย่างไร ทำไมโครงการจึงไม่ผ่านรายงานผลกระทบ ก่อนที่จะเล่ารายละเอียดของผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ ต้องย้อนไปถึงประเด็นปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ คำถามว่าทำไมโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าอาคารชุด โรงแรม อพาร์ตเม้นท์ โรงพยาบาล ซึ่งเป็นอาคารต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ประเด็นคำถามว่า ทำไมต้องจัดทำรายงานผลกระทบ

ก็เพราะมีความเชื่อกันว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลง สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เกิดอุบัติภัย น้ำท่วมรุนแรงพายุจัด ไฟป่าอย่างรุนแรง เข้าทำลายอาคารบ้านเรือนเสียหาย ขณะเดียวกันก็มีการบุกรุกป่าเขา ทำลายสภาพแวดล้อมเดิมกันเป็นอย่างที่สุด ประกอบกับการขยายตัวทางอุตสาหกรรมการผลิตที่มีผลเสียจากขบวนการผลิต ได้แก่ อากาศเสีย ปริมาณคาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ กรดกำมะถัน เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำใช้ น้ำเสีย น้ำโสโครก ก็เพิ่มปริมาณมากขึ้น เกิดเป็นมลพิษและมลภาวะอันทำอันตรายแก่ข้างเคียง ความหวาดกลัวก็เลยระบาดไปถึงว่า เป็นเพราะเหตุการณ์สร้างอาคารบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้าง ขนาดใหญ่เข้าไปทำลายสภาพแวดล้อม

โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่า ความเป็นจริงนั้น อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นตัวสร้างของเสีย มลพิษ มลภาวะ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียง ที่จะต้องควบคุมและจัดการให้ของเสีย มลพิษหรือมลภาวะนั้นลดลงจนไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งคิดว่าอาคารพักอาศัยรวม บ้านจัดสรร อาคารขนาดใหญ่ จะผลิตหรือจะสร้างของเสียที่เป็นมลพิษ หรือสร้างมลภาวะได้ ทั้งที่อาคารเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมธรรมดาปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่ทั่วไป เมื่อเกิดความวิตกกังวลกันว่า โครงการขนาดใหญ่อาจจะเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งก็ได้เสนอวิธีการที่จะป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเสนอเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมโลก และกำหนดคณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมในส่วนต่างๆ เช่น ส่วนของโครงการภาครัฐ ผู้ชำนาญการวิเคราะห์ชุดต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน สาระสำคัญที่กำหนดในพระราชบัญญัติก็คือ การกำหนดว่าสิ่งแวดล้อมคืออะไร และกำหนดหลักเกณฑ์การออกประกาศการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งแวดล้อม และจะจัดการอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ซึ่งน่าจะสรุปเป็นสาระสำคัญเบื้องต้นดังนี้

คำจำกัดความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็คือ คำว่าสิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น มลพิษ หมายถึง ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่นๆรวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้หมายความรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่นๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

ภาวะมลพิษ หมายถึง สภาวะที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนโดยมลพิษซึ่งทำให้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษในดิน ของเสีย หมายถึง ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งถูกปล่อยทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่อยู่ในสภาพของแข็งของเหลว หรือก๊าซ และประกาศหลักเกณฑ์สำคัญในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

        1.2.5 (2) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ทั้งที่เป็นผลกระทบโดยตรง และผลกระทบทางอ้อมต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและคุณค่าต่างๆ ตาม 1.2.4 พร้อมทั้งแยกประเภททรัพยากรเป็นชนิดที่สามารถฟื้นฟูได้และฟื้นฟูไม่ได้รวมทั้งให้ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในทุกทางเลือกของโครงการเปรียบเทียบกัน
        1.2.6 มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการชดเชย
        1.2.7 มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
        1.2.8 ตารางสรุปผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญพร้อมด้วยมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบดังกล่าว

สรุปเป็นหลักการและหลักเกณฑ์ของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการ ที่เข้าไปหรือตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมนอกเขตชุมชนเมือง หรือพื้นที่ที่มีกฎหมายผังเมือง หรือกฎหมายควบคุมอาคาร หรือจะให้ชัดเจนก็ คือ บริษัทพื้นที่ป่า ภูเขา ชายทะเล หรือเป็นพื้นที่สภาพแวดล้อมเดิม ซึ่งโครงการที่จะเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและก่อให้เกิดมลพิษหรือมลภาวะขึ้น

จากกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามที่ได้เขียนมาข้างต้นก็คือนักวิชาการและนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยผนวกเอาโครงการพักอาศัยรวมขนาดใหญ่ บ้านจัดสรร หรืออาคารสูงอาคารขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการที่ปรากฏขึ้นหรือเกิดขึ้นในเขตเมือง หรือเขตควบคุมทางผังเมือง ที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดในประกาศกระทรวงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่จะต้องจัดทำงายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งในความเป็นจริงอาคารเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เป็นอาคารที่ประกอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือสภาวะแวดล้อมแต่อย่างใด อาจจะมีของเสีย เช่น น้ำเสีย ขยะ และความวุ่นวายเดือนร้อนรำคาญอันเกิดขึ้นขณะก่อสร้างโครงการ แต่ก็ควบคุมและจัดการได้ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคารและข้อกำหนดบางประการ ในประกาศกระทรวงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเรื่องมาตรฐานของเสีย อากาศเสีย

ดังนั้น ในการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน บริการชุมชน จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องของมลพิษ ภาวะมลพิษ เพราะเป็นข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการโครงการต่างๆ จะต้องจัดทำจัดให้มีและจัดการให้ ควรจะต้องดูแลผู้ประกอบการเหล่า นั้นตามกฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบของอาคาร การจัดสรรที่ดิน หรือบริการชุมชนในเขตชุมชนเมือง หรือเขตผังเมืองรวมหรือเขตควบคุมอาคารนี้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น