วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฟ้อง2คอนโดดังบังแดด'ชุมชนชินเขต'ร้องละเมิดก่อสร้างบดบังแดดยามเช้า

Hot Focus
    • Date: 12/11/2555
    • ฟ้อง2คอนโดดังบังแดด'ชุมชนชินเขต'ร้องละเมิดก่อสร้างบดบังแดดยามเช้า
    • Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
      Monday, November 12, 2012  05:30


                ตุลาการศาลปกครองแถลงเพิกถอนใบอนุญาตเดอะเซนต์ สุขุมวิท เหตุอีไอเอไม่ถูกต้อง
                ชุมชนเดือดร้อนฟ้องสองคอนโดดัง "ดิ แอสปาย งามวงศ์วาน-เดอะเซนต์ สุขุมวิท" สร้างบดบังทัศนียภาพ  ตุลาการศาลปกครอง ชี้รายงานอีไอเอไม่ถูกต้องตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สผ. ยอมรับคอนโดก่อสร้างเพิ่มปีเดียวทะลุกว่า 300 โครงการ แต่ไม่ผ่านอีไอเอถึง 200 แห่ง
                วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงปัญหาจราจรที่ติดขัด ทำให้คอนโดกลางกรุงติดแนวรถไฟฟ้าเป็นคำตอบที่ลงตัวกับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ แต่จำนวนคอนโดที่เพิ่มขึ้นโดยไร้การจัดระเบียบ กระทั่งหลายชุมชนรวมตัวกันยื่นฟ้องศาลปกครองกับการก่อสร้างที่กระทบต่อสภาพแวดล้อม
                นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุว่า มีหลายชุมชนที่ได้เข้ามาขอให้ช่วยเหลือเพื่อยื่นฟ้องเจ้าของโครงการที่ก่อสร้าง ทั้งเรื่องการก่อสร้างที่ไปบัดบังทัศนียภาพ รวมไปถึงการก่อสร้างที่ไม่จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จำนวนหลายโครงการ และศาลได้ตัดสินแล้ว 2 โครงการ
                คดีล่าสุดที่ คณะตุลาการศาลปกครอง อ่านคำแถลงเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จนนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต คอนโดโครงการเดอะเซนต์ สุขุมวิท ซึ่งชี้ว่า คอนโดจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนอีไอเอของกฎหมายสิ่งแวดล้อมปี 2535 เพราะไม่จัดรับฟังความคิดเห็นของชาวชุมชนที่อยู่รอบข้าง ทำให้การจัดทำอีไอเอไม่สมบูรณ์ เมื่อโครงการไม่ทำตามขั้นตอนกฎหมายจึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและให้เพิกถอนรายงานอีไอเอฉบับดังกล่าว
                "เมื่ออีไอเอถูกเพิกถอนจึงทำให้ใบอนุญาตถูกเพิกถอนไปด้วย หลังจากนี้คาดว่า 1-2 วัน ศาลคงจะอ่านคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะต้องรอดูท่าทีของเจ้าของโครงการว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะโครงการเปิดขายไปแล้ว" นายศรีสุวรรณ กล่าว
                ที่ผ่านมาโครงการประเภทคอนโดในเมืองที่เข้าข่ายจัดทำอีไอเอไม่ถูกต้องขั้นตอน และสมาคมฯยื่นฟ้องศาลปกครองไปแล้ว 2-3 แห่งในเขตกทม.ชั้นใน เช่น โครงการ  ดิ แอสปาย" พงษ์เพชร ซึ่งทำอีไอเอไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและทำให้ชุมชนที่อาศัยรอบๆ ไม่เห็นพระอาทิตย์ตอนเช้า ถือเป็นการละเมิดทำให้ชุมชนไม่ได้รับแสงแดด
                ชาวชุมชนซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน 43 แยก 1 ฟ้องโครงการก่อสร้างคอน โดมิเนียมหรู " แอสปาย" ความสูง 28 ชั้น 2 ตึก และอาคารจอดรถความสูง 9 ชั้นของบริษัท เดอะ แวลู พร็อพเพอร์ตี้  ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวบ้าน 16 รายในซอยชัยเกียรติ 1 และ ซอยชินเขต ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในเดือนก.พ. 2554
                คอนโดบดบังแสงแดดยามเช้า
                ชาวชุมชนได้ฟ้องข้อหาการก่อสร้างคอนโดมิเนียมบดบังแสงแดด ทัศนวิสัยและช่องลม รวมทั้งปัญหาการก่อสร้างที่ทำให้มีเศษฝุ่น ทราย และวัสดุก่อสร้างร่วงหล่นมายังบ้านเรือน  และส่งเสียงดังในช่วงเวลากลางคืน โดยศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัทก่อสร้างได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วงเวลา 08.00-17.00 น. และให้หยุดกิจกรรมทุกประเภทในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการอื่น รวมทั้งให้มีการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องความสั่นสะเทือน เสียง ฝุ่นละอองให้ครบถ้วน โดยให้รายงานต่อศาลทุกวันที่ 15 ของเดือนนับตั้งแต่มี.ค. 2554
                "กรุงเทพธุรกิจ" ได้ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าการก่อสร้าง โดยพบว่าหากขับรถมาตามถนนเลียบคลองประปา  ก็สามารถมองเห็นตัวโครงการคอนโด แอสปาย ได้อย่างเด่นชัด เนื่องจากมีความสูงที่สุดในย่านถนนงามวงศ์วาน  บริเวณซอยชินเขต แยก 1 เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างมากที่สุด โดยอาคารก่อสร้างไปแล้ว 60%  ถึงชั้นที่ 16 แล้ว"
                ความสูงของตึกสูงตระหง่าน 2 หลัง ที่วางตัวตามลักษณะของที่ดินตามความยาวทั้งด้านซ้าย-ขวาทำให้บดบังทัศนวิสัยไปทั้งหมด เพราะชุมชนแถวนี้ยังเป็นบ้านสองชั้นอยู่ด้านหลังอาคารคอนโดทำให้ในช่วงเช้าคอนโดปิดกั้นพระอาทิตย์ ชุมชนจะมีโอกาสเห็นพระอาทิตย์ในช่วงเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป และในช่วงเวลา 16.00 -17.00 น. ที่เป็นช่วงเวลาทำงานมีเสียงดังจากก่อสร้างดังกึกก้องในชุมชน และพบว่ามีเศษฝุ่นปลิวตามลมเป็นระยะๆ
                ชาวบ้านเตรียมยื่น 157 จนท.ละเว้น
                ด้าน นายสันติภัทร  พรหมบุตร ตัวแทนชาวชุมชนซอยชินเขต  กล่าวว่า แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติบริษัทฯ ยังฝ่าฝืนคำสั่งศาล มีการก่อสร้างเกินเวลาที่กำหนด โดยบ้านของตนอยู่ติดแนวรั้วของโครงการ ยังได้รับผลกระทบจากวัสดุก่อสร้าง ตะปู รวมทั้งก้นบุหรี่ที่คนงานทิ้งลงมาอย่างต่อเนื่องจนเกรงว่าจะเกิดไฟไหม้บ้าน
                เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นี้ ชาวบ้านต้องทำหนังสือแจ้งไปทางผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ เพื่อขอให้มาตรวจสอบโครงการอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าในวันที่ 7 ก.ย. นี้ ทางเขตกลับทำหนังสือชี้แจงโดยอ้างว่าทางโครงการมีมาตรการป้องกันเหตุ และระบุว่าจะแจ้งให้ผู้รับผิดชอบทำการแก้ไข
                เขาระบุว่า สำนักงานเขต บอกว่าโครงการทำถูกต้อง ทั้งที่โครงการทำผิดทุกอย่าง ทั้งละเมิดคำสั่งศาล และก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทำผิดแบบ เพราะเดิมจะทำแค่ 22 ชั้นแต่มาเปลี่ยนเป็น 28 ชั้น รวมทั้งไม่ทำตามมาตรการอีไอเอ แทบทุกประเด็น ซึ่งชาวบ้านกำลังเตรียมยื่นเสนอต่อศาลปกครองเพิ่มเติม เพื่อขอให้เพิกถอนอีไอเอ เพิกถอนใบขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเตรียมยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตหลักสี่ ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
                ยอมย้ายถ้าโครงการซื้อบ้านทุกหลัง
                ขณะที่ นายสันติภัทร บอกว่า ชุมชนเคยมองเห็นแดดตลอดทั้งวัน แต่ขณะนี้ได้รับแดดแค่ครึ่งวันบ่ายเท่านั้น  ไม่สามารถมองทัศนียภาพภายนอกได้อีก  โดยพื้นที่ที่ถูกกว้านซื้อไปก่อสร้างคอนโดนั้นเป็นที่รกร้าง ก็ยังมีสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่อนาคตเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเกิดปัญหาความแออัดตามมามาก ทั้งการจราจร จำนวนผู้คนที่เพิ่มขึ้นและความไม่ปลอดภัย
                "โครงการนี้มีห้องพักกว่า 1,400 ยูนิต โดยก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้กับบ้าน 20 หลังที่อยู่ติดแนวรั้วคอนโดหลังละ
                3.5 แสนบาท และในหลังถัดไปราคาหลังละ 2 แสนบาท แต่เรามองว่ามันไม่คุ้มความเสี่ยงในอนาคต เช่น หากเกิดภัยพิบัติ หรือไฟไหม้ชาวบ้านต้องได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ได้ยื่นข้อเสนอให้ทางโครงการซื้อบ้านทั้ง 39 รายที่ประสบปัญหาทั้งสองชุมชน เพื่อจะได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นๆ"
                คอนโดพุ่ง 2 เท่า เสนออีไอเอ 301 โครงการ
                จำนวนคอนโดที่เพิ่มมากขึ้นการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยาก นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า การเติบโตของธุรกิจคอนโดและบ้านจัดสรรในเขตพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวมทั้งในเขตเมืองต่างจังหวัดค่อนข้างสูงมาก  โดยพบว่าในปี 2555 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค.นี้  มีโครงการอาคารชุดพักอาศัย คอนโดมิเนียม อาคารชุดโรงแรม ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เข้าพิจารณาในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) ชุดด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน รวมทั้งสิ้น 301 โครงการ
                ส่วนใหญ่เป็นการเสนอสร้างในพื้นที่ทั่วไป 204 โครงการ และ อีก 97  โครงการเสนอก่อสร้างในพื้นที่ที่คุ้มครองทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภูเก็ต พัทยา เป็นต้น และมีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบไปเพียง 98 โครงการ ส่วนอีก 203 โครงการ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ โดย คชก. มีมติสั่งให้เจ้าของโครงการปรับปรุง มาตรการในการลดผลกระทบ
                "อาคารคอนโดเสนออีไอเอ เพิ่มเข้ามา 2 เท่าตัว จากปี 2554 เพียง 172 โครงการ โดยเฉพาะปี 2555 เพิ่มเป็น 301 โครงการ แต่คณะกรรมการชำนาญการมีเพียงชุดเดียว และต้องประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ถือว่าภาระงานค่อนข้างหนัก"
                ส่อถูกชุมชนต้าน เหตุผังเมืองไม่ชัด
                นายสันติ ยอมรับว่าโครงการคอนโดที่เพิ่มขึ้นในเขตกทม.และเมืองขนาดใหญ่ ค่อนข้างเติบโตอย่างสะเปะสะปะมาก  เช่น  คอนโดสูงขนาดใหญ่เริ่มเข้าไปในชุมชนแถบชานเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านพักดั้งเดิม เช่น แถวเสนานิคม รามอินทรา ซึ่งในอนาคตอาจนำไปสู่การร้องเรียนจากชุมชนเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากอาคารสูงบังแดด บังลมและทัศนียภาพรวมถึงปัญหาจากการจราจรที่ไม่รองรับกับคอนโดได้ ดังนั้นควรต้องใช้ผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของคอนโดในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เพราะอีไอเอ เป็นเพียงกฎหมายรองทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มาอุดช่องว่างเท่านั้น
                เขาบอกว่า ที่ผ่านมาปัญหาการก่อสร้างโครงการคอนโด โรงแรม ที่พักและอาคารชุด ที่มีปัญหาถูกสั่งเบรก แต่ไม่ถึงกับต้องรื้อถอนอาคาร ส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าของโครงการที่บางครั้งก็หลีกเลี่ยงการทำตามเงื่อนไขอีไอเอ  เช่น กรณีก่อสร้างอาคารชุดไม่เกิน 80 ห้อง  แต่ก็ทำเพียง 79  ห้อง
                นอกจากนี้ยังพบว่าหลังการก่อสร้างไปแล้ว มีปัญหาว่าหน่วยงานที่อนุมัติอนุญาตไม่ได้ติดตาม กำกับดูแล และตรวจสอบ ให้อาคารเหล่านี้ปฏิบัติตามเงื่อนไข มาตรการอีไอเอ ที่กำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น