วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2567

กองกำลังโกก้าง (MNDAA)

ทำความรู้จักกับกองกำลังโกก้าง (MNDAA) บก.เงาลายby บก.เงาลายมกราคม 08, 2560 ขอทำความรู้จักกับชาวโกก้างก่อน ชาวโกก้างคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองโกก้าง ภาคเหนือของรัฐฉาน แต่เดิมเป็นชาวฮั่น พูดภาษาจีนกลาง (แมนดาริน) ซึ่งอพยพมาจากมณฑลยูนนานทางใต้ของจีนในช่วงศตวรรษที่ 18 การอพยพของชาวโกก้างเกิดขึ้นเมื่อราชวงศ์หมิงของจีนได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพแมนจู จนทำให้จักรพรรดิหย่งลี่ ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงต้องอพยพหนีภัยกองทัพแมนจูมายังยูนนาน โดยมีชาวจีนหลายหมื่นคนที่ภักดีต่อราชวงศ์หมิงติดตามมาด้วย และหนึ่งในนั้นคือ หยาง กั๊วะโช (Yang Gaosho) ซึ่งเกิดเมื่อปี 1622 ในตระกูลขุนศึกเก่าแก่ ที่เมืองนานกิง มณฑลเจียงซูของจีน ต่อมา บุตรชายของ หยาง กั๊วะโช ได้ก่อตั้งเขตพื้นที่ 9 หมู่บ้านขึ้นและมีการปกครองตนเอง แต่ละหมู่บ้านจะมีปู่ก้าง (เทียบเท่ากับผู้ใหญ่บ้าน) เป็นผู้ปกครอง ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า เก้าก้าง หรือ โกก้าง (Kokang) โดยผู้แทนของจักรพรรดิจีนมอบตราตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมือง นับจากนั้นลูกหลานตระกูลหยางก็ได้สืบต่ออำนาจในการเป็นผู้ปกครองต่อเนื่องมายาวนานกว่า 200 ปี หลังอังกฤษชนะสงครามยึดพม่าเป็นเมืองขึ้น ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ปกครองของลูกหลานตระกูลหยางเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอังกฤษกับจีนมีการแบ่งเขตแดนกัน และเขตพื้นที่ปกครองของลูกหลานตระกูลหยางได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉานในที่สุด และก่อตั้งรัฐศักดินาที่เรียกว่าโกก้างขึ้นมา ขณะที่หลายเมืองของรัฐฉานก็ตกไปอยู่ในจีน อังกฤษได้กำหนดให้เจ้าเมืองโกก้างขึ้นต่อเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี แต่อยู่ไม่นานเมืองโกก้างเริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี เนื่องจากต้องจ่ายภาษีหรือส่วยมากกว่าเมืองอื่นๆ สุดท้ายโกก้างได้แยกตัวจากเมืองแสนหวี และแต่งตั้งเจ้าฟ้าขึ้นครองเมืองเอง โดยมี หยาง เจินไส (Yang Zhensai) หรือ เจ้าเอ็ดเวิร์ด หยาง เจินไส (Sao Edward Yang Zhensai) เป็นเจ้าฟ้า ทำให้รัฐฉานซึ่งขณะนั้นมีเจ้าฟ้าอยู่เดิม 33 เมือง เพิ่มเป็น 34 เมือง สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โกก้างได้จัดตั้งกองกำลังของตนเอง ภายใต้การสนับสนุนจากกองกำลังจีนก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) ที่พ่ายแพ้พรรคคอมมิวนิสต์จีนถอยเข้ามาในรัฐฉาน มีนางโอลีฟ หยาง (Mrs. Olive Yang) หรือ หยาง เจินซิว (Yang Zhensiu) เป็นผู้นำ และมีผู้บริหารระดับสูงคนสำคัญได้แก่ เผิง จาเซิง (Pheung Kya-shin) และ หลอ ชิงห่าน (Lo Hsinghan) ในปี 1962 หลังนายพลเน วิน (General Ne Win) ยึดอำนาจขึ้นเป็นรัฐบาลเผด็จทหารปกครองพม่า ต่อมาได้ทำการจับกุมเจ้าฟ้าในรัฐฉานรวมถึงนางโอลีฟ หยาง ผู้นำกองกำลังโกก้างด้วย ทำให้ชาวโกก้างและกองกำลังโกก้างตื่นตัวเริ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จทหารพม่านับแต่นั้น ในปี 1964 โกก้างได้จัดตั้งกองกำลังใหม่เป็น กองกำลังปฏิวัติโกก้าง (Kokang Revolution Force: KRF) มี จิมมี่ หยาง (Jimmy Yang) หรือที่รู้จักในชื่อ หยาง เจินเซอ (Yang Zhenze) หรือที่รู้จักในชื่อ เจ้าแหลด (Sao Ladd) น้องชายของหยาง เจินไส (Yang Zhensai) หรือ เจ้าเอ็ดเวิร์ด หยาง เจินไส (Sao Edward Yang Zhensai) เป็นผู้นำ และในปีเดียวกันได้เข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army: SSA) ของเจ้านางเฮือนคำ (Sao Nang Hearn Kham) ชายาของเจ้าฟ้ากัมโพชรัฐสิริปวรมหาวงศาสุธรรมราชา หรือ เจ้าชฺเว่แต้ก (Sao Shwe Thaik) เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองหญ่องชฺเว่ ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ๆ มีโครงสร้างกำลัง 4 กองพลน้อย รวมกองกำลังปฏิวัติโกก้าง (KRF) เป็น 5 กองพลน้อย แต่ต่อมาไม่นานกองพลน้อยของโกก้าง เกิดความแตกแยกกันระหว่าง หลอ ชิงห่าน กับ หยาง เจินเซอ (เจ้าแหลด) โดยฝ่าย หลอ ชิงห่าน ได้ไปร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งเป็นหน่วย ก่า แกฺว่ เย (Ka Kwe Ye: KKY) ส่วนกลุ่มของ หยาง เจินเซอ (เจ้าแหลด) ไปร่วมกับ พรรคประชาธิปไตยรัฐสภา (Parliamentary Democracy Party: PDP) พรรคการเมืองพม่า ภายใต้การนำของ อู นุ (U Nu) อดีตนายกรัฐมนตรีพม่า ในปี 1967 เกิดการขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและจีน จากเหตุการปะทะกันของนักเรียนชาวจีนและนักเรียนชาวพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ซึ่งเชื่อว่าทางการพม่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยการปะทะกันมีต้นเหตุมาจากช่วงนั้นนักเรียนในประเทศจีนนิยมติดรูปประธาน เหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong) อดีตผู้นำของจีน ที่หน้าอกระหว่างไปเรียน ซึ่งแฟชั่นนี้ได้ลามสู่นักเรียนจีนในพม่าด้วย รัฐบาลทหารพม่าไม่พึงพอใจและได้ออกคำสั่งห้าม ทำให้นำไปสู่การปะทะของนักเรียนทั้งสองฝ่ายลามถึงประชาชนและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ ทางการจีนที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมแบบจีนไม่พอใจ จึงหันไปส่งเสริมพรรคคอมมิวนิสต์เบอร์มา (Communist Party of Burma: CPB) ต่อต้านรัฐบาลผด็จทหารของนายพลเน วิน พร้อมกับให้การสนับสนุน เผิง จาเซิง ที่ขณะนั้นพำนักอยู่ในจีนจัดตั้งกองกำลังโกก้างขึ้น ภายใต้ชื่อ กองทัพปลดปล่อยประชาชนโกก้าง (Kokang People Liberation Army: KPLA) เข้าร่วมด้วย และในปี 1968 พรรคคอมมิวนิสต์เบอร์มา (CPB) ซึ่งมีทหารจีนร่วมด้วยเข้ายึดเมืองโก (ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน) วันที่ 5 มกราคม 1968 กองทัพปลดปล่อยประชาชนโกก้าง (KPLA) ทำสัญญาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เบอร์มา (CPB) และร่วมต่อสู้รัฐบาลเผด็จทหารพม่าเรื่อยมา ขณะนั้นในพรรคคอมมิวนิสต์เบอร์มา (CPB) มีกองกำลังชาวชาติพันธุ์เป็นกองกำลังแนวร่วมหลายกลุ่ม อาทิ กองทัพประชาธิปไตยใหม่คะฉิ่น (New Democratic Army-Kachin: NDA-K) กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA) กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance Army: NDAA) หรือกองกำลังเมืองลา และกลุ่มพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Shan State Progressive Party/Shan State Army: SSPP/SSA) ปัจจุบัน ร่วมอยู่ด้วย และทั้งหมดได้ทยอยแยกตัวออกตั้งเป็นกองกำลังของตัวเองในปี 1989 โดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนโกก้าง (KPLA) แยกออกเป็นกลุ่มแรก ในวันที่ 11 มีนาคม 1989 ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า พร้อมตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษที่ 1 มีเมืองเล้าก่าย เป็นเมืองเอก และตั้งชื่อกลุ่มเป็น กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA) เมื่อปี 1992 เกิดความแตกแยกกันอีกครั้งของกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) เมื่อ หยาง โมเหลี่ยง (Yang Mao-liang) ปฏิวัติยึดอำนาจ เผิง จาเซิง จนทำให้ เผิง จาเซิง ต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่กับ จายลืน (Sai Leun) มีชื่อจีน หลิน หมิ่งเสียน (Lin Mingxian) ชื่อพม่า ไซลิน (Sai Lin) ลูกครึ่งไทใหญ่-จีน ซึ่งเป็นลูกเขยและเป็นผู้นำกองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDAA) หรือกองกำลังเมืองลา กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี เผิง จาเซิง ได้วางแผนร่วมกับกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) พร้อมกับ หม่ง สา ละ (Mong Sa La) ผู้บัญชาการกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) ประจำเมืองโก ร่วมกันบุกยึดอำนาจคืนจาก หยาง โมเหลี่ยง ได้สำเร็จ ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 1995 ฝ่าย หม่ง สา ละ ผู้บัญชาการประจำเมืองโก ได้ประกาศแยกตัวออกจาก เผิง จาเซิง ไปตั้งกลุ่มเองเคลื่อนไหวในพื้นที่เมืองโก โดยใช้ชื่อว่า กองทัพพิทักษ์เมืองโก (Mongkoe Defense Army: MDA) ขณะที่ฝ่าย เผิง จาเซิง ได้ตั้งมั่นพัฒนาเขตปกครองตนเองจนรุ่งเรือง ในเวลาเดียวกันกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDAA) หรือกองกำลังเมืองลา และกองทัพประชาธิปไตยใหม่คะฉิ่น (NDA-K) หรือกองกำลังคะฉิ่น ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เบอร์มา (CPB) ร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสัมพันธมิตรภายใต้ชื่อ แนวร่วมสันติภาพและประชาธิปไตย (Peace and Democracy Front: PDF) มาจนถึงปัจจุบัน เขตปกครองพิเศษที่ 1 อยู่อย่างสงบภายใต้การนำของ เผิง จาเซิง เป็นเวลากว่า 20 ปี นับตั้งแต่เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ถือได้ว่าสร้างรากฐานพัฒนาเขตปกครองตนเองจนเจริญรุ่งเรือง ภายในเมืองเอกซึ่งในอดีตเป็นสนามรบกลางหุบเขา ก็ถูกพัฒนามีโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด กระทั่งซุปเปอร์มาร์เก็ต ถนนหนทางลาดยางและมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อปี 2002 กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ได้ประกาศพื้นที่ปกครองเป็นเขตปลอดยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง โดยปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงในปี 2009 กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ถูกกดดันให้แปรสภาพเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force: BGF) ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพพม่า (Tatmadaw) แต่กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลจึงเกิดการเผชิญหน้ากับกองทัพพม่า จากนั้นกองทัพพม่าก็มีท่าทีเป็นศัตรูกับกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง มากขึ้นเรื่อยๆ กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง มีตระกูลใหญ่ๆ ที่สืบทอดอำนาจอยู่ 3 ตระกูล คือ ตระกูลหยาง (หยาง โมเหลียง) ตระกูลเผิง (เผิง จาเซิง) และตระกูลหลอ (หลอ ชิงห่าน) แต่ตระกูลหยาง และตระกูลหลอ มีอำนาจไม่ยาวนานเท่าตระกูลเผิง ที่กุมอำนาจมาตั้งแต่ปี 1967 หากครั้งนี้ เผิง จาเซิง ไม่สามารถพลิกตัวฟื้นกลับมาได้ก็เท่ากับความเป็นใหญ่ของตระกูลเผิงก็คงจะหมดสิ้นลง และอำนาจตระกูลใหม่เห็นจะหนีไม่พ้นพวกตระกูลป๋าย (ป๋าย โส่วเฉิน) ตระกูลเหลียว (เหลียว เกว๋อชี) ตระกูลเว้ย (เว้ย เชาเหยิน) และตระกูลหลิว (หลิว เจินเซียง) ขณะนั้น กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ก็มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อผู้บริหารระดับสูงเกิดความไม่ค่อยลงรอยจากเรื่องการแบ่งปันอำนาจไม่เสมอภาค ว่ากันว่าผู้นำได้แต่แบ่งปันอำนาจให้เฉพาะเครือญาติ ประกอบกับกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ถูกกดดันให้แปรสภาพเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force: BGF) ซึ่งผู้บริหารระดับสูงบางส่วนเห็นควรยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่า ขณะที่ เผิง จาเซิง ยืนกรานเสียงแข็งไม่รับไม่เอา เผิง จาเซิง ดูเหมือนจะไม่ชอบหน้าผู้เอียงข้างรัฐบาลทหารพม่านี้มากนัก และแล้วเขาได้ทำการปลด ป๋าย โส่วเฉิน (Bai Suoqian) ซึ่งมีตำแหน่งรองผู้นำเขตปกครองพิเศษที่ 1ของเขา พร้อมด้วยคณะกรรมการระดับสูงอีก 4 – 5 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างและแสดงท่าทีอ่อนข้อต่อรัฐบาลทหารพม่ามากเกินไป ขณะที่ฝ่ายที่ถูกปลดเมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันมายาวนาน ก็หันไปสวามิภักดิ์กับรัฐบาลทหารพม่า เมื่อ ป๋าย โส่วเฉิน รองประธานเขตปกครองพิเศษที่ 1 และพวก หันไปสนับสนุนรัฐบาลทหารและต่อต้าน เผิง จาเซิง และแจ้งต่อรัฐบาลทหารว่า เผิง จาเซิง มีโรงงานผลิตอาวุธและยาเสพติด ในวันที่ 8 สิงหาคม 2009 ความตึงเครียดระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง และรัฐบาลทหารเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อ พลตรี อ่อง ตาน ทุต (Major general Aung Than Htut) แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กองบัญชาการอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานภาคเหนือ) นำกำลังกว่าร้อยนายเข้าไปในเขตปกครองพิเศษที่ 1 เพื่อตรวจค้นโรงงานผลิตอาวุธที่เชื่อว่าทำบังหน้าการผลิตยาเสพติด รวมทั้งบุกตรวจค้นบ้านของ เผิง จาเซิง ทำให้เกิดการประจันหน้ากันระหว่างกำลังของทั้งสองฝ่าย แต่ไม่มีการสู้รบกัน ถึงกระนั้นประชาชนจำนวนมากอพยพเนื่องจากกลัวจะเกิดเหตุรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ของจีนต้องเข้ามาแทรกแซง วันที่ 20 สิงหาคม 2009 กองทัพพม่าเริ่มรวมตัวกันที่เมืองเล้าก่าย เมืองเอกของเขตปกครองพิเศษที่ 1 วันที่ 22 สิงหาคม 2009 ได้ออกหมายเรียกผู้นำระดับสูงเขตปกครองพิเศษที่ 1 พื้นที่ปกครองตนเองโกก้าง 4 คน รวมถึง เผิง จาเซิง แต่ก็ถูกปฏิเสธ วันที่ 24 สิงหาคม 2009 ได้ออกหมายจับพร้อมจัดส่งกำลังพลหน่วยต่างๆ ทั้งทหารราบ หน่วยเคลื่อนที่เร็ว หน่วยปืนใหญ่ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัครและตำรวจนับพันนาย เข้าประชิดเขตปกครองพิเศษที่ 1 โดยไม่เกิดการปะทะสู้รบ การเข้ายึดครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากทหารกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ที่จงรักภักดีต่อกองทัพพม่า หลังกองทัพพม่าเคลื่อนกำลังพลเต็มอัตราศึกเข้าเขตปกครองพิเศษที่ 1 เพื่อกดดันจับกุมผู้นำให้ได้ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง รู้ตัวดีว่ากำลังถูกคุกคามรุกรานจึงได้เรียกประชุมฉุกเฉิน เตรียมรับมือ พร้อมกับแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานอยู่ในความพร้อม ขณะเดียวกันได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายึดหลักสันติวิธี เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2009 กองทัพพม่าได้แต่งตั้งฝ่ายที่ไม่ภักดีต่อ เผิง จาเซิง ผู้นำสูงสุดกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง รวม 11 คน เป็นคณะกรรมการบริหารเขตปกครองพิเศษที่ 1 โกก้างชั่วคราว และเช้าวันที่ 26 สิงหาคม 2009 ร่วมกันเข้ายึดเมืองเล้าก่าย ทำให้กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ซึ่งมีกำลังพลพร้อมรบราว 1,000 นาย ที่กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ต้องยอมสละถอนกำลังออกอยู่รอบนอกเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 27 สิงหาคม 2009 กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ได้เริ่มเปิดฉากสู้รบกับกองทัพพม่านอกเมืองและลุกลามหลายจุดทั้งด้านเมืองชินฉ่วยเหอ ติดชายแดนจีนและโดยรอบเมืองเล้าก่าย ยังผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียไม่แพ้กัน ในขณะที่กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง มีแนวโน้มจะพ่ายแพ้ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ยังคงสู้รบ และต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2009 กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ถอนตัวออก วันที่ 29 สิงหาคม 2009 ทหารกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ราว 700 นาย ได้ข้ามพรมแดนและมอบตัวกับทางการจีน รัฐบาลพม่าได้ประกาศว่าการสู้รบสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2009 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้นำเฉพาะกาลเขตปกครองพิเศษที่ 1 โกก้างขึ้นใหม่ ป๋าย โส่วเฉิน ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเขตปกครองพิเศษที่ 1 โกก้างคนใหม่ แทนที่ เผิง จาเซิง ที่ถูกรัฐบาลออกหมายจับจนต้องหลบหนี ป๋าย โส่วเฉิน ที่สนับสนุนกองทัพพม่าได้เป็นผู้นำคนใหม่ ประกาศว่า ชาวโกก้างจะเข้าร่วมในการเลือกตั้งปี 2010 ทหารกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ที่ภักดีกับ ป๋าย โส่วเฉิน กลายเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force: BGF) ที่ 1006 ภายใต้บังคับบัญชาของกองทัพพม่า ศึกครั้งนี้ไม่ยึดเยื้อและจบลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกองทัพพม่าได้วางแผนมาอย่างรัดกุมและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่แยกตัวออกจากกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง สามารถควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญได้เกือบทั้งหมด ส่วนกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ที่เหลือยังคงต่อต้านกองทัพพม่าด้วยการใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตี ภายใต้การนำของ เผิง เต๋อเหริน หรือ หง หย่งเฉิง หรือที่รู้จักในชื่อ เผิง ต้าชุน ลูกชายของ เผิง จาเซิง สถานการณ์ในเขตปกครองพิเศษที่ 1 โกก้าง สงบลงเป็นเวลา 5 ปี แต่ในเดือนธันวาคม 2014 เผิง จาเซิง ในวัย 84 ปี ได้ปรากฏตัวอีกครั้ง และให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกง “โฟนิกซ์เทเลวิชั่น” หรือ “iFeng” ว่า กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ต้องการทวงเขตปกครองของตนคืนจากทหารพม่า ที่ถูกยึดไปเมื่อปี 2009 และต้องการทวงคืนข้อตกลงหยุดยิงที่เคยทำไว้กับรัฐบาลพม่าในปี 1989 โดยระบุว่า ไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพ ต้องการปกครองตนเองเหมือนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แม้จะพูดภาษาจีน แต่พวกเขาคือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่า นักรบกลุ่มนี้ไม่ยอมแพ้ รวมตัวกันใหม่ เชื่อกันว่ามีกำลังทหารประมาณ 3,000 คน และทยอยเคลื่อนทัพกลับมาพร้อมอาวุธทันสมัย โดยมีเป้าหมายกลับมายึดฐานที่มั่นเดิมจากทหารพม่าให้ได้ วันที่ 9 กุมภาพันธุ์ 2015 กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ได้ก่อเหตุโจมตีค่ายทหารใกล้เมืองเล้าก่าย และยังมีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations: EAOs) 4 กลุ่มคือ กลุ่มพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Shan State Progressive Party/Shan State Army: SSPP/SSA) กลุ่มองค์กรอิสรภาพกะฉิ่น/กองทัพเอกราชกะฉิ่น (Kachin Independence Organisation/Kachin Independence Army: KIO/KIA) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติดารฺอั้ง (Palaung State Liberation Front/Ta'ang National Liberation Army: PSLF/TNLA) และกลุ่มสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (United League of Arakan/Arakan Army: ULA/AA) ที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง อย่างไรก็ตาม มีเพียง กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติดารฺอั้ง (PSLF/TNLA) และกลุ่มสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) เท่านั้นที่ออกมายอมรับ การโจมตีตั้งแต่วันที่ 9 – 12 กุมภาพันธุ์ 2015 ทำให้ฝ่ายกองทัพพม่าเสียชีวิต 47 นายในจำนวนนี้เป็นนายทหาร 5 นาย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 70 นาย รัฐบาลของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein) ประกาศสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินในเขตปกครองพิเศษที่ 1 โกก้าง 3 เดือน และประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นรัฐบาลในปี 2011 กองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบ MIG-29 และเฮลิคอปเตอร์ Mi-35 ถล่มฐานที่มั่นของกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Senior General Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า ได้ออกมากล่าวอย่างแข็งกร้าวว่า กองกำลังติดอาวุธที่ให้การช่วยเหลือกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในเขตปกครองพิเศษที่ 1 โกก้างส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น ซึ่งเป็นเชื้อสายหลักของจีน กลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่า เหตุการณ์สู้รบในเขตปกครองพิเศษที่ 1 ในครั้งนี้จึงสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและพม่า เพราะกองทัพพม่ากล่าวหาว่า ทหารรับจ้างชาวจีนช่วยกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) รบพม่า และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จีนให้ความช่วยเหลือกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) โจมตีกำลังทหารพม่าจากดินแดนของจีน โกก้างที่มีเชื้อสายจีน จึงทำให้ดูเหมือนว่า ไม่ใช่กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) รบพม่าเท่านั้น แต่เป็นจีนรบกับพม่าด้วย เรื่องนี้กำลังสร้างความไม่พอใจและปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชนชาวพม่าเป็นอย่างมาก และเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนชาวพม่าหันมายืนข้างกองทัพและสนับสนุนอย่างเต็มที่ อนึ่ง ในช่วงที่เกิดการปะทะสู้รบในพื้นที่เขตปกครองพิเศษที่ 1 โกก้างนั้น ตรงกับช่วงที่รัฐบาลพม่าจัดงานรำลึกวันก่อตั้งสหภาพพม่า หรือวันลงนามสัญญาปางโหลง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธุ์ 1947 หรือเมื่อ 68 ปีก่อน โดยมีการเชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ 13 กลุ่ม รวมทั้ง พลเอก ซอ มูตู เซ โพ (General Saw Mutu Say Poe) ประธาน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) พลเอก ยอดศึก (General Yawd Serk) ประธาน สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State/Shan State Army: RCSS/SSA) ไหน่ หง สา (Nai Hong Sar) เลขาธิการ พรรคมอญใหม่/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมอญ (New Mon State Party/Mon National Liberation Army: NMSP/MNLA) ซึ่งเป็นผู้นำของคณะประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Coordination Team: NCCT) ของกลุ่มชาติพันธุ์ 16 กลุ่ม เข้าร่วมงานฉลองที่กรุงเหน่ปฺยี่ด่อด้วย โดยก่อนหน้านี้ อู อ่อง มิน (U Aung Min) รัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดีพม่า และประธานในคณะทำงานสันติภาพระดับสหภาพ (Union Peace-Making Work Committee: UPWC) ได้เจรจาและมีข้อเสนอต่อผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ร่วมกันลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement: NCA) ในช่วงที่มีการจัดงานรำลึกวันก่อตั้งสหภาพพม่า อย่างไรก็ตามผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มไม่พร้อมที่จะลงนามดังกล่าว เนื่องจากขั้นตอนเจรจาทางการเมืองหลายข้อไม่มีความคืบหน้า ทำให้ในวันจัดงานรำลึกวันก่อตั้งสหภาพพม่า มีการเปลี่ยนเป็นการลงนามใน "หนังสือแสดงพันธะสัญญาเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ" หรือ "Deed of Commitment for Peace and National Reconciliation" แทน โดยหลักการของเอกสารดังกล่าวซึ่งมี 5 ข้อ ใจความ คือ ยอมรับหลักของการสร้างสหภาพบนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและสหพันธรัฐ โดยมีน้ำใจป๋างโหลงและผลของการเจรจาทางการเมือง เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และหลักกำหนดใจตนเองสำหรับพลเมืองทุกคน ความพยายามร่วมกันเพื่อให้เกิดความสำเร็จในกระบวนการสันติภาพ เพื่อทำให้บรรลุในสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนทุกคน ทั้งนี้มีผู้ลงนามประกอบด้วย ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีพม่า รัฐมนตรีระดับสหภาพ 14 คน สมาชิกรัฐสภา 5 คน ซึ่งรวมทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาชนชาติ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนกองทัพพม่า 3 ราย รัฐมนตรีกระทรวงกิจการชนชาติ 29 คน และผู้แทนพรรคการเมือง 55 คน ส่วนผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ที่ลงนาม ได้แก่ (1) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) (2) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army: DKBA) (3) สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-Peace Council: KNLA-PC) และ (4) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State/Shan State Army: RCSS/SSA) ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นอีก 9 กลุ่มที่เหลือยังไม่พร้อมลงนาม โดยบางกลุ่มเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ ไม่ใช่ข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมงานรำลึกวันก่อตั้งสหภาพพม่าที่กรุงเหน่ปฺยี่ด่อ ได้แก่ กลุ่มองค์กรอิสรภาพกะฉิ่น/กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIO/KIA) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติดารฺอั้ง (PSLF/TNLA) กลุ่มสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) และกลุ่มกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง ซึ่งทั้งหมดยังคงอยู่ในสถานการณ์สู้รบกับรัฐบาลพม่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น